วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติพระอานนท์


alt

ประวัติ พระอานนท์เถระ เอตทัคคะในทางผู้เป็นพหูสูตร

พระอานนท์ เป็นพระราชโอรสของพระสุกโกทนะ ผู้เป็นพระกนิษฐาของพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดานามว่า พระนางกีสาโคตมี มี

ศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระบรมศาสดา (พระราชโอรสของพระเจ้าอา) ออกบวชพร้อมกับเจ้าชายอนุรุทธะและอุบาลี (ศึกษาประวัติ

เบื้องต้นในประวัติของพระอนุรุทธเถระ) เมื่อท่านบวชแล้ว ได้ฟังโอวาทจากรพปุณณมันตานี ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันได้รับเลือกเป็น

พุทธอุปัฎฐากในช่วงปฐมโพธิกาลหลังจากตรัสรู้แล้ว ๒๐ พรรษานั้น ยังไม่มีพระภิกษุใดปฏิบัติรับใช้พระพุทธองค์เป็นประจำ มีแต่

พระภิกษุผลัดเปลี่ยนวาระกันปฏิบัติ เช่น พระนาคสมาละ พระนาคิตะ พระอุปวาณะ พระสาคตะ และพระเมฆิยะ เป็นต้น บางคราว

การผลัดเปลี่ยนบกพร่อง องค์ที่ปฏิบัติอยู่ออกไป แต่องค์ใหม่ยังไม่มาแทน ทำให้พระพุทธองค์ต้องประทับอยู่ตามลำพังขาดผู้ปฏิบัติ

บางครั้งพระภิกษุผู้ปฏิบัติ ก็ดื้อดึงขัดรับสั่งของพระพุทธองค์ เช่น ครั้งหนึ่ง เป็นวาระของพระนาคสมาลเถระ ท่านได้ตามเสด็จ

พระพุทธองค์ไปทางไกล พอถึงทาง ๒ แพร่ง พระเถระทราบทูลว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์เสด็จไปทางนี้เถิด พระเจ้าข้า”

“อย่าเลย นาคสมาละ ไปอีกทางหนึ่งจะดีกว่า”

พระนาคสมาละ ไม่ยอมเชื่อฟังพระดำรัส ขอแยกทางกับพระพุทธองค์ ทำท่าจะวางบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคที่พื้นดิน

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

“นาคสมาละ เธอจงส่งบาตรและจีวรมาให้ตถาคตเถิด”

พระนาคสมาละ ถวายบาตรและจีวรแด่พระพุทธองค์แล้วแยกทางเดินไปตามที่ตนต้องการ ไปได้ไม่ไกลนักก็ถูกพวกโจรทำร้ายจน

ศีรษะแตกแล้วแย่งชิงเอาบาตรและจีวรไป ทั้งที่เลือดอาบหน้ารีบกลับมาเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลเล่าเรื่องให้ทรงทราบ พระพุทธ

องค์จึงตรัสว่า ??“อย่าเสียใจไปเลย นาคสมาละ ตถาคตห้ามเธอก็เพราะเหตุนี้”

พระพุทธองค์ ได้รับความลำบากพระวรกายเพราะถูกปล่อยให้ประทับอยู่ตามลำพังหลายครั้ง จึงมีพระดำรัสรับสั่งให้ภิกษุสงฆ์เลือกสรร

ภิกษุทำหน้าที่ปฏิบัติพระองค์เป็นประจำ ภิกษุทั้งหลายมีฉันทามติมอบหมายให้พระอานนท์เถระรับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากตลอดกาล

เป็นนิตย์ ด้วยเห็นว่าท่านเป็นผู้มีสติปัญญา ขยัน อดทน รอบคอบ และเป็นพระญาติใกล้ชิด ย่อมจะทราบพระอัธยาศัยเป็นอย่างดี

พระเถระทูลขอพร ๘ ประการ

แต่ก่อนที่พระเถระจะตอบรับทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากนั้น ท่านได้กราบทูลขอพร ๘ ประการ ดังนี้:-

๑ ขออย่าประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระองค์

๒ ขออย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์

๓ ขอได้โปรดอย่าให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์

๔ ขอได้โปรดอย่าพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์

๕ ขอพระองค์จงเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ที่ข้าพระองค์รับไว้

๖ ขอให้ข้าพระองค์พาบริษัทที่มาจากแดนไกลเข้าเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่มาถึงแล้ว

๗ ถ้าข้าพระองค์เกิดความสงสัยขึ้นเมื่อใดขอให้ข้าพระองค์เข้าเฝ้าทูลถามความสงสัยได้เมื่อนั้น

๘ ถ้าพระองค์แสดงพระธรรมเทศนาเรื่องใด ในที่ลับหลังข้าพระองค์ขอได้โปรดตรัสพระธรรมเทศนาเรื่องนั้น แก่ข้าพระองค์อีกครั้ง

พระพุทธองค์ตรัสถามคุณและโทษของพร ๘ ประการ

พระบรมศาสดา ได้สดับคำกราบทูลขอพรของพระอานนท์เถระแล้ว ได้ตรัสถามถึงคุณและโทษของพร ๘ ประการว่า:-

“ดูก่อนอานนท์ เธอเห็นคุณและโทษอย่างไร จึงขออย่างนั้น ?”

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อที่ ๑-๔ ข้างต้น ก็จะมีคนพูดติฉินนินทา ได้ว่า พระอานนท์ ปฏิบัติบำรุงอุปัฏฐาก

พระบรมศาสดา จึงได้ลาภสักการะมากมายอย่างนี้ การปฏิบัติอุปัฏฐากมิได้หนักหนาอะไรเลย และถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อที่ ๕-๗

ก็จะมีคนพูดได้อีกว่าพระอานนท์ จะบำรุงอุปัฏฐากพระบรมศาสดาไปทำไม แม้กิจเพียงเท่านี้ พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงอนุเคราะห์ อนึ่ง

โดยเฉพาะถ้าข้าพระองค์ไม่ได้รับพรข้อสุดท้ายแล้ว หากมีผู้มาถามข้าพระองค์ว่า ธรรมข้อนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงที่ไหน ถ้าข้า

พระองค์ไม่ทราบ เขาก็จะตำหนิได้ว่า พระอานนท์ ติดตามพระบรมศาสดาไปทุกหนแห่ง ดุจเงาตามพระองค์ แต่เหตุไฉนจึงไม่รู้แม้แต่

เรื่องเพียงเท่านี้ ?“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นคุณและโทษ ดังกล่าวมานี้ จึงได้กราบทูลขอพรทั้ง ๘ ประการนั้น พระเจ้าข้า”

พระบรมศาสดา เมื่อได้สดับคำชี้แจงของพระอานนท์แล้ว จึงประทานสาธุการ และพระราชทานอนุญาตให้ตามที่ขอทุกประการ ตั้งแต่

นั้นมา ท่านพระเถระก็ปฏิบัติหน้าที่บำรุงอุปัฏฐากพระพุทธองค์ตลอดมา ตราบเท่าถึงเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน

ยอมสละชีวิตแทนพระพุทธองค์

alt

พระเถระ ได้ปฏิบัติหน้าที่อุปัฏฐากพระบรมศาสดาด้วยความอุตสาหะมิได้บกพร่อง อีกทั้งมีความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ชีวิตของ

ตนก็ยอมสละแทนพระพุทธองค์ได้ เช่น ในคราวที่พระเทวทัตยุยงให้พระเจ้าอชาตศัตรูปล่อยช้างนาฬาคีรี ด้วยหวังจะให้ทำ

อันตรายพระพุทธองค์ ขณะเสด็จออกบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ในขณะที่ช้างนาฬาคีรีวิ่งตรงเข้าหาพระพุทธองค์นั้น พระอานนท์เถระ

ผู้เปี่ยมล้นด้วยความกตัญญูและความจงรักภักดี ได้ยอมมอบกายถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา ได้ออกไปยืนขวางหน้าช้างไว้ หวังจะให้

ทำอันตรายตนแทน แต่พระพุทธองค์ได้ทรงแผ่พระเมตตาไปยังช้างนาฬาคีรี ด้วยอำนาจแห่งพระเมตตาบารมี ทำให้ช้างสร่าง

เมาหมดพยศ ลดความดุร้ายยอมหมอบถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้วลุกขึ้นเดินกลับเข้าสู่โรงช้าง ด้วยอาการอันสงบ

ได้รับยกย่องหลายตำแหน่ง

พระอานนท์เถระ ได้ปฏิบัติพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด มิได้ประมาทพลาดพลั้ง ได้ฟังพระธรรมเทศนาทั้งที่ทรงแสดงแก่ตนและผู้อื่น

ทั้งที่แสดงต่อหน้าและลับหลัง อีกทั้งท่านเป็นผู้มีสติปัญญาทรงจำไว้ได้มาก จึงเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรม พระบรมศาสดาทรง

ยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งปวง ถึง ๕ ประการ คือ พระอานนท์ได้ทำหน้าที่พุทธอุปัฏฐากได้เป็นอย่างดียิ่ง

จนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะ (ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) 5 ประการ ได้แก่

1. เป็นพหูสูต (ทรงจำพุทธวจนะได้มากที่สุด)

2. เป็นผู้มีสติ 

3. เป็นผู้มีคติ (แนวในการจำพุทธวจนะ)

4. เป็นผู้มีธิติ (ความเพียร)

5. เป็นพุทธอุปัฏฐากผู้เลิศ

ปฐมสังคายนารับหน้าที่สำคัญ

ในกาลที่พระพุทธองค์ใกล้ปรินิพพาน พระอานนท์เถระมีความน้อยเนื้อต่ำใจที่ตนยังเป็นปุถุชนอยู่ อีกทั้งพระบรมศาสดาบรมครูก็จะ

เสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานในอีกไม่ช้า จึงหลีกออกไปยืนร้องไห้แต่เพียงผู้เดียวข้างนอก พระพุทธองค์รับสั่งให้ภิกษุไปเรียกเธอมาแล้ว

ตรัสเตือนให้เธอคลายทุกข์โทมนัสพร้อมทั้งตรัสพยากรณ์ว่า....

“อานนท์ เธอจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันทำปฐมสังคายนา”

เมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระได้นัดประชุมพระอรหันต์ขีณาสพ จำนวน ๕๐๐ องค์ เพื่อทำปฐมสังคายนา

โดยมอบให้พระอานนท์รับหน้าที่วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม แต่เนื่องจากพระอานนท์ยังเป็นปุถุชนอยู่ ท่านจึงเร่งทำความเพียร

อย่างหนักแต่ก็ยังไม่สำเร็จจนเกิดความอ่อนเพลีย ท่านจึงปรารภที่จะพักผ่อนอิริยาบถสักครู่ จึงเอนกายลงบนเตียง ในขณะที่เท้าพ้น

จากพื้น ศีรษะกำลังจะถึงหมอน ท่านก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ไม่ได้อยู่ในอิริยาบถอย่างใดอย่างหนึ่งทั้ง ๔

อย่าง คือ อิริยาบถยืน เดิน นั่ง หรือนอน นับว่าท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แปลกกว่าพระเถระรูปอื่น ๆ

ปรินิพพานกลางอากาศ

พระอานนท์เถระ ดำรงอายุสังขารอยู่นานถึง ๑๒๐ ปี พิจารณาเห็นว่าสมควรที่จะปรินิพพานได้แล้ว ท่านจึงเชิญญาติทั้งฝ่ายศากยะ

และฝ่ายโกลิยะ ไปที่ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี ซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ ก่อนที่จะปรินิพพาน ท่านเหาะขึ้นไปบน

อากาศได้แสดงธรรมสั่งสอนเทวดาและพระประยูรญาติทั้งสองฝ่าย ตลอดทั้งพุทธบริษัทอื่น ๆ เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้วท่านได้ตั้ง

สัตยาธิษฐานว่า....

“เมื่ออาตมานิพพานแล้ว ขอให้อัฐิธาตุของอาตมานี้จงแยกออกเป็น ๒ ส่วน จงตกลงที่ฝั่งกรุงกบิลพัสดุ์ ของพระประยูร

ญาติฝ่ายศากยวงศ์ ส่วนหนึ่ง และจงตกที่ฝังกรุงเทวทหะของพระประยูรญาติฝ่ายโกลิยวงศ์ส่วนหนึ่ง เพื่อป้องกันมิให้

พระประยูรญาติทั้งสองฝ่ายทะเลาะวิวาทกันเพราะแย่งอัฐิธาตุ”

ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ณ เบื้องบนอากาศ ในท่ามกลางแม่น้ำโรหิณี นั้น เตโชธาตุก็เกิดขึ้น เผาสรีระของท่าน

เหลือแต่กระดูกและแยกออกเป็น ๒ ส่วน แล้วตกลงบนพื้นดินของ ๒ ฝั่งแม่น้ำโรหิณีนั้นสมดังที่ท่านอธิษฐานไว้ทุกประการท่านได้ชื่อ

ว่าเป็นพุทธสาวกที่ได้บรรลุกิเลสนิพพาน และขันธนิพพานแปลกกว่าพระสาวกรูปอื่น ๆ

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

1. เป็นผู้ทรงจำธรรมไว้ได้มาก พระอานนท์ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นพหูสูต เพราะท่านทูลขอพรจากพระพุทธเจ้าก่อน

เข้ารับตำแหน่งพุทธอุปัฏฐาก มีข้อหนึ่งความว่า ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเรื่องในในที่ลับข้าพระองค์ ขอให้พระองค์ได้โปรดแสดง

ธรรมเรื่องนั้นแก่ข้าพระองค์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้เอาใจใส่ขวนขวายในการศึกษาและทรงจำเป็นอย่างดียิ่ง

2. เป็นผู้ช่วยระงับความแตกร้าวในพุทธจักร คราวที่พระชาวเมืองโกสัมพีเกิดทะเลาะวิวาทกันเป็นฝ่าย พระพุทธเจ้าทรงตักเตือนก็ไม่

สามารถคลายทิฏฐิมานะพระเหล่านั้นลงได้ พระองค์จึงเสด็จไปจำพรรษาในป่าปาลิเลยยกะ ต่อมาพระเหล่านั้นเกิดสำนึกผิดรู้สึก

ละอายใจ จึงเข้าไปหาพระอานนท์ พร้อมขอร้องให้ท่านพาไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลขอขมา พระอานน์ได้ทำตามจนสามารถ

ระงับความแตกร้าวให้กลับคืนสภาวะปกติได้

3. เป็นผู้รับภาระในพระพุทธศาสนา ในคราวปฐมสังคายนา ท่านได้ทำหน้าที่วิสัชนาพระธรรม โดยรวบรวมพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรง

แสดงไว้มาจัดเป็นหมวดหมู่ จนปรากฏเป็น พระสุตตันตปิฎก และ พระอภิธรรมปิฎก ให้เราได้ศึกษาจนกระทั่งทุกวันนี้

4. เป็นผู้สืบต่อพระศาสนา ท่านเป็นผู้มีศิษย์มาก ต่อมาศิษย์ของท่านได้มีบทบาทสำคัญในการทำสังคายนาครั้งที่ 2 คือ พระสัพพกามี

พระยสกากัณฑบุตร และพระเรวตะ เป็นต้น แสดงถึงความเป็นผู้มีอัธยาศัยไมตรีที่เพียบพร้อมดีงาม ทำให้มีผู้เคารพเลื่อมใสและแสดง

ตนเป็นศิษย์จำนวนมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น