วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติรัชกาลที่ 9

 
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
   
 
 
   
 
รู้เรื่องในหลวงของเรา
 
•  วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ ตรงกับวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีเถาะ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช พระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาลย์ ประสูติ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสสาซูเสตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เหตุที่ประสูติที่อเมริกา เพราะขณะนั้น พระบรมราชชนก เสด็จทรงศึกษาและปฏิบัติหน้าที่ราชการในต่างประเทศ ทรงมีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
•  พระนาม “ ภูมิพลอดุลยเดช ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มีความหมายว่า “ ผู้ทรงกำลังอำนาจไม่มีอะไรเทียบในแผ่นดิน ”
•  หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงประกาศสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้กราบทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๘ แห่งราชจักรีวงศ์ จากนั้นในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๗๘ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช ทรงได้รับเฉลิมพระนามเป็น “ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ” ในครั้งนั้นทั้งสองพระองค์ยังประทับอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
•  ในปี ๒๔๘๐ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช สายพระเนตรสั้นลง เป็นเหตุให้ต้องทรงฉลองพระเนตรนับตั้งแต่นั้นมา
•  ในปี ๒๔๘๘ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งขณะนั้นทรงพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา เสด็จกลับมาประทับเป็นมิ่งขวัญของประชาชนชาวไทย ในการเสด็จนิวัตสู่ประเทศไทยครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้เสด็จกลับมาด้วย โดยได้เสด็จถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ อันตรงกับวันพระราชสมภพ ขณะมีพระชนมายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์
•  ใน วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ประชาชนชาวไทยต้องประสบกับความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต อย่างกระทันหันด้วยพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง และในวันเดียวกันนี้เอง พระบรมวงศานุวงศ์และคณะรัฐมนตรีก็ได้กราบบังคมทูล อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็น พระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และได้มีการประกาศเฉลิมพระนามว่า “ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ”แต่เนื่องจากในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๙ พรรษา ยังไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองได้ อีกทั้งยังมีพระราชภารกิจเรื่องการศึกษา จึงได้มีการแต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวรราชเสวี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
•  วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๘๙ ได้เสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์พร้อมสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธออีกครั้ง โดยก่อนจากประเทศไทยในครั้งนั้น ได้ทรงเสด็จไปถวายบังคมลาพระบรมศพพระบรมเชษฐาธิราชที่พระบรมมหาราชวัง ขณะที่ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังสนามบินดอนเมือง ได้มีประชาชนคนหนึ่งตะโกนว่า “ อย่าละทิ้งประชาชน ” ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงมีพระราชนิพนธ์เรื่อง “ เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์ ” ว่าทรงอยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า “ ถ้าประชาชนไม่ “ ทิ้ง ” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ ละทิ้ง ” อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว ..”
• เมื่อเสด็จกลับไปยังประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพื่อศึกษาต่อ ก็ได้ทรงเปลี่ยนจากสาขาวิทยาศาสตร์ มาทรงศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อเตรียมพระองค์ในการเป็นพระประมุขของประเทศ
•  ในปี ๒๔๙๓ เมื่อเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยแล้ว ได้ทรงกำหนดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลตั้งแต่วันที่ ๑๘ มีนาคม จนถึงวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๔๙๓ อันเป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ
•  หลังจากนั้นใน วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯก็ได้ทรงจัดพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ซึ่งพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งนี้ นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกสำหรับพระมหากษัตริย์ไทยในยุคประชาธิปไตย ที่ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นเดียวกับปวงชนชาวไทย
•  ในวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ได้ทรงจัด พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองแผ่นดินอย่างสมบูรณ์ โดยมีพระปรมาภิไธยว่า “ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ” ซึ่งในครั้งนั้นได้ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ” พร้อมกันนี้ได้ทรงสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระอัครมเหสี ขึ้นเป็น “ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ”
•  ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงผนวช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช (หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเป็นพระราชอุปชฌาย์ และสมเด็จพระสังฆราชได้ถวายพระสมณฉายานามว่า “ ภูมิพโล ภิกขุ ” ทรงประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงอยู่ในเพศบรรพชิตอยู่ ๑๕ วันจึงลาผนวชเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ในระหว่างทรงผนวช ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ซึ่งทรงปฏิบัติราชกรณียกิจในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้อย่างเรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี นาถ ในปีเดียวกันนี้เอง
•  ในปี ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัชกาล โดยเริ่มจากประเทศสาธารณรัฐเวียดนาม อินโดนีเซีย และสหภาพพม่า และในปี ๒๕๐๓ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรป รวม ๑๔ ประเทศ ตั้งแต่วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๐๓-วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๐๔ ซึ่งในการเสด็จฯเยือนต่างประเทศครั้งนั้น นอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์กับมิตรประเทศแล้ว ทั้งสองพระองค์ยังได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจจนบังเกิดผลสำเร็จ นำผลประโยชน์มาสู่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยมากมาย ทรงเป็นที่กล่าวขานถึงพระบารมีเลืองลือขจรไกล
•  ในปี ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จึงทรงโปรดเกล้าฯให้มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวโรกาสมหามงคลข้างต้นตามโบราณราชประเพณี ที่นิยมเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระเจ้าอยู่หัวฯทรงเจริญพระชนมายุเสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชบุรพการี
•  ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงกระทำ “ พระราชพิธีรัชดาภิเษก ” อันเป็นพิธีเฉลิม ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี และในปี ๒๕๒๐ คณะบุคคลอันประกอบด้วยประชาชนทุกสาขาอาชีพ ได้พร้อมกันแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการน้อมเกล้าฯถวายพระราชสมัญญา “ มหาราช ” พร้อมจัดงานถวายพระพรและเฉลิมพระเกียรติในวันเฉลิมพระชนมพรรษา โดยใช้ชื่อว่า “ ๕ ธันวามหาราช ” ต่อมาเพื่อความพร้อมเพรียงในหมู่พสกนิกรชาวไทยในอันที่จะถวายพระราชสมัญญา “ มหาราช ” จึงได้มีการสำรวจประชามติทั่วประเทศ ปรากฎว่าประชาชนมีความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถวายพระราชสมัญญา “ มหาราช ” เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐
•  วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “ อัครศิลปิน ” แด่พระองค์ ด้วยทรงเป็นเลิศในศิลปะหลายสาขา อาทิ ดุริยางคศิลป์ ทัศนศิลป์ และนฤมิตศิลป์ เป็นต้น คำว่า “ อัครศิลปิน ” หมายถึง ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ หรือผู้เป็นใหญ่ในศิลปินก็ได้ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทรงเป็นเลิศในศิลปะทั้งปวงแล้ว ยังทรงมีคุณูปการได้ทรงอุปถัมภ์แก่ศิลปินทั้งหลายด้วย
•  วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ได้มีการจัด “ ราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ” อันเป็นพระราชพิธีเฉลิมฉลองเนื่องใน อภิลักษขิตสมัยที่ทรงครองราชสมบัติยาวนานกว่าสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าแห่งราชอาณาจักรไทยทุกพระองค์ในอดีต ซึ่งเป็นมหามงคลวโรกาสที่หาได้ยากยิ่ง คือ ทรงครองราชย์สมบัติเป็นเวลา ๔๒ ปี ๒๒ วัน ซึ่งเป็นเวลาจำนวนปีและวันเท่ากับสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระอัยยิกาธิราช
•  วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ เป็นวันที่ ทรงครองราชย์สมบัติครบ ๕๐ ปี รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เพื่อถวายเป็นราชสักการะและถวายพระพรชัยมงคล พระองค์ได้โปรดเกล้าฯพระราชทานชื่องานว่า “ พระราชพิธีกาญจนาภิเษก ” นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษอีกวาระหนึ่งที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย
•  วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ได้มีงาน “ พระราชพิธีสมมงคล พระชนมายุ ๗๓พรรษา เท่ากับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ” ( สมมงคล อ่านว่า สะ-มะ-มง-คล)คือวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระชนมายุได้ ๒๖,๔๖๙ วัน เท่ากับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
•  วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ ปีนี้ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ได้ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่องานว่า “ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ” ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งพสกนิกรชาวไทยต่างร่วมใจกันจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อถวายเป็นราชสักการะ และร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสมหามงคลครั้งนี้ทั่วประเทศ ที่สำคัญคือจะมีประมุขและพระบรมวงศานุวงศ์จากมิตรประเทศมาร่วมถวายพระพรด้วย
•  และใน วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ซึ่งได้โปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อมาแล้วว่า “ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ”ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น คือเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช “ ในหลวง ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ” ซึ่งตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์ นับตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ตราบจนปัจจุบัน เป็นเวลา ๖๐ ปีเต็ม จนกล่าวได้ว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ได้ทรงอุทิศพระวรกาย พระราชหฤทัย และพระสติปัญญาบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวงเพื่ออาณาประชาราษฎร์ของพระองค์อย่างมากมายมหาศาลตลอดมา จนยากยิ่งที่จะหาพระมหากษัตริย์พระองค์ใด หรือประมุขของประเทศใดในโลกมาเทียบเคียงได้ ดังนั้น ในโอกาสมหามงคลสมัยนี้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทั้งในและนอกประเทศได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ด้วยการตั้งใจ “ ทำความดี ” และ “ รู้รักสามัคคี ” ถวายเป็นพระราชสักการะ ให้สมกับที่พวกเราได้มีบุญเกิดบนผืนแผ่นดินไทย ที่มี “ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ” เป็นพระประมุขของชาติ
   
 ขอขอบคุณ  คุณอมรรัตน์  เทพกำปนาท 
 กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นที่มาของบทความ 
   
 
 
 
อาศิรวาท  นวมราชสดุดี
 
 
เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
 
 
ทรงครองราชย์ ครบ ๖๐  ปี
 

  สรวมชีพ  อาศิรวาท  บาทบดินทร์องค์ภูมิพล  สยามินทร์  ปิ่นเกศี 
 ครองสิริราชย์  สืบพงศ์  วงศ์จักรี  หกสิบปี  ปกประเทศ  ปกเกศไทย 
  ธ  ครองแผ่นดิน โดยธรรม  ตามคำมั่น ปณิธาน  พระทรงธรรม์  นั้นยิ่งใหญ่ 
 ธ   สรรค์สร้าง  ประโยชน์สุข  เพื่อผองไทยเป็นฉัตรชัย  ดับทุกข์เข็ญ  ราษฎร์เย็นทรวง 
  พระทัยท่าน  พระทัยทอง  ผ่องรังสีเลิศความดี   ล้ำเมตตา  ค่าใหญ่หลวง 
 พระเนตรนั้น  เพื่อห่วงใย  ไทยทั้งปวง ราษฎร์ร้อนทรวง  อยู่แห่งหน ตำบลใด 
  พระบาทบุก  ขุนเขา  ลำเนาป่าเสด็จผ่าน  ธารธารา   เชี่ยวกรากไหล 
 ทรงเหนื่อยยาก  ตรากตรำ  สักเพียงใด ขอทวยราษฎร์  พ้นภัย  ก็พอเพียง 
   คิดโครงการ  เนื่องใน  พระราชดำริทรงตรองตริ  ค้นวิจัย  ให้อย่างเยี่ยง 
 แนะแนวทาง  เศรษฐกิจ  อย่างพอเพียง   เพื่อราษฎร์เลี้ยง  ชีวัน  อย่างมั่นคง 
  พระอัจฉริยภาพ  พระทรงชัย  เกริกไกรก้องประชาคมโลกแซ่ซ้อง  ล้วนเสริมส่ง 
 ครบครองราชย์  หกสิบปี  ของพระองค์  UN ส่ง  เลขาธิการ  สานสัมพันธ์ 
  เพื่อทูลเกล้าฯ  ถวายรางวัล  อันทรงค่าด้านพัฒนา  มนุษย์ให้  ได้สุขสันต์ 
 ประสบผล  สูงสุด  เกินจำนรรจ์ UNDP  คือรางวัล  อันเกรียงไกร 
  รางวัลใด  ไหนเล่า  เท่าราษฎร์สุขปัดเป่าทุกข์  ให้ไพร่ฟ้า  นั้นหน้าใส 
 คือรางวัล ที่พระ ภูวไนย  ตั้งพระทัย  ปรารถนา  มายาวนาน 
  วโรกาส  ทรงครองราชย์  หกสิบปีประชาไทย  ทั่วธานี  ขอกล่าวขาน 
 น้อมมนัส  ถวายสัตย์  ปฏิญาณ  จะสมาน  สามัคคี  ทำดีกัน 
  จะประพฤติ  ตามรอยเบื้อง  ยุคลบาท เสียสละ  เพื่อชาติ  ไทยสุขสันต์ 
 ใช้ชีวิต  อย่างพอเพียง  เยี่ยงทรงธรรม์  เกื้อกูลกัน  มิเลือกชาติ  หรือศาสน์ใด 
  สรวมเดช  พระไตรรัตน์  พิพัฒน์ผลขอทรงพระ  เจริญชนม์  จิรสมัย 
 ให้พรั่งพร้อม  จตุรพร  นิราภัย  พระเกียรติไกร  ถิรสุข  นิรันดร์กาล 
   
 
 ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
 
 
ข้าพระพุทธเจ้า  ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรีย์    ไวยกุฬา    ประพันธ์
 
   
 
 
 
อาเศียรพาท  นวมราชสดุดี
 
 
เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมระชนมพรรษาครบ ๘0 ปี
 
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
 
 ภูมิ         ธรรม  ธ  เพียบพร้อมบำเพ็ญ 
 พล         เพื่อราษฎร์รอนเข็ญขัดข้อง 
 มหา        กษัตริย์ทรงเป็นจอมปราชญ์ 
 ราช        กิจเกริกเกียรติก้องร่มเกล้าชาวประชา 
 ที่ห้าธันวมาสนี้ เฉลิมชนม์ 
 แปดสิบพรรษมงคลปิ่นเกล้า 
 ราษฎร์เริงรื่นรวมกมล เฉลิมเกียรติ  พระเฮย 
 ถวายพระพรบวรเจ้าจุ่งพร้อมจตุรพร 
 ประชากรถวายสัตย์น้อมปณิธาน 
 ยึดมั่น ธรรมสี่ประการก่อเกื้อ 
 เกิดความรักสมัครสมานสามัค-  คีเฮย 
 เพื่อร่วมแรงโอบเอื้อชาติให้ร่มเย็น 
 คิด  เห็น  ทำ  พูด ด้วยเมตตา 
 ร่วมประสานประโยชน์พาเสร็จได้ 
 ยึดมั่นกฎกติกาสุจริต  ใจแฮ 
 พินิจเหตุผลให้ถูกต้องครองธรรม 
 กระแสพระดำรัสก้องกังวาน 
 พระประสงค์ภูบาล บอกไว้ 
 ปวงพสกยกคำขานครวญใคร่  คิดแฮ 
 ร่วมพัฒนาชาติให้รุ่งเรื้องสราญรมย์ 
  ไทยอุดมร่มด้วยพระบารมี 
 แผ่ปกป้องปฐพีสุขพ้อง 
 ตรากตรำนับแรมปีปวงราษฎร์  ห่วงนา 
 หกสิบล้านใจซ้องสดับเฝ้าข่าวสาร 
 พระภูบาลทุกข์ร้อนเรื่องใด 
 ราษฎร์อุระหวั่นไหววุ่นว้า 
 หวังแบ่งทุกข์จอมไทยคลายโศก  เศร้าแฮ 
 ราษฎร์รัก ธ ยิ่งฟ้ายิ่งหล้าสาคร 
 คือ  บิดรแผ่เอื้ออารี 
 คือ  กษัตริย์สืบจักรี   เกริกหล้า 
 คือ  พระมิ่งโมลีปกประเทศ  ไทยเฮย 
 คือ  เทพจากฟากฟ้าเสด็จแคว้นแดนไทย 
  เปรมใจปราโมทย์พร้อมไผทสยาม 
 เฉลิมพระชนม์ฉลองความ สุขถ้วน 
 เฉลิมพระเกียรติทุกเขตคาม สมโภช 
 แปดสิบพรรษเลิศล้วนผ่องแผ้วสุขศานติ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น