วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติรัชกาลที่ 6

                                พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
        "พระราชาศิลปิน เมื่อนาทีที่ใกล้เสด็จสวรรคต ยังทรงมุ่งพระทัยเฝ้ารอการประสูติของ พระราชโอรส แต่ทว่า พระมเหสีทรงประสูติ พระราชธิดา ก่อนจะถึงวันรุ่งขึ้น ซึ่งแผ่นดินร้องไห้" "สยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ ๒ แห่งสยาม"
                                                                  
            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๒๓ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๒ ค่ำเดือนยี่ ปีมะโรง ถ้าจะนับตามลำดับแล้ว ทรงเป็นพระราชโอรส องค์ที่ ๒๙ ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แต่ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๑ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
       ๑. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย ประไพพรรณพิจิตรนริศราชกุมารี
       ๒. สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (รัชกาลที่ ๖)
       ๓. สมเด็จเจ้าฟ้าตรีเพชรรุตม์ธำรงฯ
       ๔. สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ
       ๕. สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์
       ๖. สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง สิ้นพระชนม์ยังพระเยาว์
       ๗. สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฏางค์เดชาวุธ
       ๘. สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก
       ๙.สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช (รัชกาลที่ ๗)
       ทรงเปี่ยมน้ำพระทัย เมื่อทรงพระเยาว์นั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธได้รับการถวายพระอักษรจากครู ที่บรมพระชนกนาถทรงเลือกให้ โดยในด้านภาษาอังกฤษนั้น ทรงมีนายโรเบริต์ มอแรนต์ (Robert Morant) เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ แล้วจึงได้เสด็จเข้าศึกษาในโรงเรียนราชกุมารในเขตพระบรมมหาราชวัง เมื่อทรงมีพระชนมายุ ๑๐ พรรษา ต่อจากนั้นได้ทรงศึกษาต่อในทวีปยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ตั้งแต่พระชนมายุ ๑๔ พรรษาเพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษายังต่างประเทศ ทรงส่งพระราชโอรสไปทรงศึกษาต่อ เพื่อมีพระราชประสงค์ให้กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ให้รุ่งเรืองรุดหน้าทัดเทียมอารยประเทศ
          สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงศึกษาในต่างประเทศนาน ๙ ปี ทรงศึกษาวิชาการทหารที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์ท และต่อวิชาพลเรือนในมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ในขณะที่ เจ้าฟ้าชายกำลังทรงเล่าเรียนอย่างมุ่งมั่นอยู่ ณ แดนไกลแสนไกลจากแผ่นดินสยาม สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิรุณหิศสยามมกุฎราชกุมาร ทิวงคตเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๓๗ ราชวงศ์จักรีจึงต้องสถาปนาสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ใหม่ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ นั้นทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา เมื่อทิวงคตแล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงเลือกพระราชโอรส ทางสายสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ซึ่งเป็นพระขนิษฐาแท้ ๆ ของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีก็ทรงเป็นพระมเหสีชั้นภรรยาเจ้าอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงให้ถือว่าพระราชโอรสที่ประสูติจากสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีนั้นเสมือนมีพระราชมารดาเดียวกัน ดังนั้น แทนที่จะทรงจัดลำดับพระราชโอรสพระองค์ถัดไปของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาเพื่อเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชซึ่งก็คือสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช (พระราชบิดาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙) ก็จึงทรงให้พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ขึ้นสืบพระราชสันติวงศ์ ซึ่งพระองค์นั้นก็คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี เมื่อทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็น พระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารแล้ว พระราชพิธีสถาปนาจึงมีขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๗ แล้วจากนั้นจึงมีการอัญเชิญประกาศสถาปนาฐานันดรศักดิ์พร้อมเครื่องราชอิสริยยศ และราชอิสริยาภรณ์ไปถวายสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเสด็จกลับเมืองไทยแล้ว ก็ได้ทรงเข้ารับราชการทหารในกองทัพบก ทรงได้ดำรงพระยศเป็นนายพลเอก ราชองครักษ์ จเรทหารบก ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ในยามที่พระบรมชนกนาถเสด็จประพาสยุโรป พระองค์ก็ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทน และในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงเสด็จสวรรคตท่ามกลางความวิปโยคโศกสลดทั่วทั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฎราชกุมารก็ทรงโศกเศร้าเสียพระทัยอย่างยากที่จะพรรณนาได้ ในการสูญเสียพระบรมชนกนาถอย่างกะทันหันนั้น น้ำพระเนตรของเจ้าฟ้าชายชาติทหารถึงกับหลั่งรินมิขาดสาย ที่ว่ากะทันหันนั้นเพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงประชวรแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมามิได้เคยทรุดหนักอย่างที่ภาษาชาวบ้านเราเรียกกันว่า "ล้มหมอนนอนเสื่อ" และครั้งที่ทรงประชวรนั้น ก็มิได้มีผู้ใด ทูลให้พระองค์ทรงทราบ พระองค์เพิ่งได้ทรงทราบและถูกเชิญเสด็จมาเฝ้าพระอาการของพระบรมชนกนาถก็ในคืนที่พระอาการทรงเพียบหนักเกินเยียวยาแล้ว เมื่อเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๖ สืบต่อจากพระบรมชนกนาถ ซึ่งพระองค์มีพระชนมายุ ประมาณ ๓๐ พรรษาทรงเป็นที่เทิดทูนจงรักแก่บรรดาเสนาข้าราชบริพารและพสกนิกรทั้งปวง ด้วยเพราะน้ำพระราชหฤทัยอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ในด้านพระราชกรณียกิจนั้น พระองค์ก็ทรงบริหารราชการแผ่นดินอย่างหนัก เพื่อสานต่อพระราโชบายของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและทรงปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความพัฒนารุ่งเรืองอีกหลายต่อหลายด้าน ทรงริเริ่มจัดตั้งกองเสือป่า และลูกเสือ เพื่อปลูกฝั่งให้เด็กไทยมีความรักชาติและมีความกล้าหาญ นำวิชาทหารแบบใหม่ที่ได้ทรงศึกษามาเป็นแบบอย่างในการจัดระเบียบ กฎเกณฑ์ในการทหารใหม่ให้มีระบบทัดเทียมอารยประเทศ ทรงนำประเทศเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในมหาสงครามโลก ครั้งที่ ๑ ด้วยพระปรีชาญาณอันลึกซึ้งจึงเป็นผลให้เกิดประโยชน์แก่แผ่นดินมากมายภายหลังที่พันธมิตรชนะสงคราม ทรงเปลี่ยนแปลงธงชาติไทยจากรูปช้างเผือกมาเป็นธงไตรรงค์ ทรงออกพระราชบัญญัตินามสกุล ทรงเป็นนักประชาธิปไตยทรงสร้างเมืองดุสิตธานีเป็นเมืองจำลองประชาธิปไตย
           พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกษัตริย์ศิลปิน ทรงใส่พระทัยในการละคร การประพันธ์วรรณศิลป์วรรณกรรมทั้งปวง ทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ที่ปราดเปรื่อง จนได้รับการขนานพระนามว่า "สมเด็จพระมหาธีราชเจ้า"            พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงใฝ่พระทัยอยู่กับการประพันธ์และการปกครองประเทศจนมิได้ทรงมีพระมเหสีเลยจนกระทั่งพระชนมายุ ๔๐ พรรษาแล้ว และทรงตั้งพระทัยว่าจะมีพระมเหสีเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่ทว่าเมื่อพระนางเธอลักษมีลาวัณมิอาจมีพระราชโอรสถวายได้ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ รับเจ้าจอมอีกท่านซึ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระวรชายาเธอพระอินทรศักดิ์ศจีและต่อมาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจีเมื่อทรงพระครรภ์
หากทว่าเป็นที่น่าเสียดายนัก พระราชกุมารในพระครรภ์ทรงตกเสียถึงสองครั้งสองคราว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงรับเจ้าจอมอีกท่านหนึ่งและทรงจดทะเบียนอภิเษกสมรสด้วยและทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว ประสูติแต่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพ็ชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี ประสูติก่อนที่พระบรมชนกนาถสวรรคตเพียง ๒ ชั่วโมง ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๖๘
           พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุเพียง ๔๕ พรรษา ยังทรงอยู่ในพระชนมายุที่กำลังมุ่งมั่นพระราชหฤทัยในการปกครองทำนุบำรุงแผ่นดินได้อย่างเต็มที่ หากทว่า โรคร้ายและการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นเป็นสิ่งที่ยากจะต่อสู้หรือขจัดไปได้ พระโรคโลหิตเป็นพิษได้รุกรานพระชนม์ชีพอย่างกระทันหันยิ่งนักรวมเวลา ๑๕ ปีที่พระองค์เสด็จอยู่ในสิริราชสมบัติแห่งจักรีบรมราชวงศ์
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัส เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๘๗ ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น